​เราควร “รอ” หรือเราควร “รีบ”…?


เกือบ 3 เดือนแล้วนะครับที่ Boeing 737 Max 8 

ถูกสั่งให้ระงับการบิน

ล่าสุดมีการคาดการณ์ว่าอย่างเร็วคงเป็นปลายปีนี้กว่า Boeing 737 Max 8 จะสามารถกลับมาบินได้
“เรื่องแบบนี้รีบไม่ได้ครับ”

เพราะเราเคยมีประวัติศาสตร์

ที่จะให้เกิดซ้ำรอยอีกไม่ได้นั่นคือ..

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเครื่องบิน DC-10


ครั้งหนึ่งเครื่องบิน DC-10 ก็เคยถูกระงับการบินเนื่องจากอุบัติเหตุเครื่องยนต์เสียหาย มีชิ้นส่วนบางอย่างตัดสายไฮดรอลิค ทำให้เครื่องบินสูญเสียการควบคุม มีคนเสียชีวิตไป 271 คน…ในปี 1979


ครั้งนั้นมีคำสั่งยุติการบินของเจ้า DC-10 เช่นกันครับ

แต่หลังจากนั้นไม่นานก็อนุญาตให้กลับมาบินได้อีก


บทเรียนราคาแพงที่เป็นประวัติศาสตร์โลกการบิน

ก็คือ..ผ่านไปเพียง10 ปีอุบัติเหตุก็เกิดซ้ำรอยขึ้นมาอีก


อุบัติเหตุ ที่โลกต้องจำ

อุบัติเหตุ ที่สร้างวีรบุรุษ 

อุบัติเหตุ ที่เหลือเชื่อว่าจะมีผู้รอดชีวิตมาได้


ผมจะเล่าให้ฟังครับ


ยูไนเต็ดแอร์ไลน์เที่ยวบินที่ 232 (UA232) 

เดินทางจากเดนเวอร์ สู่ฟิลาเดลเฟีย 

เมื่อบ่ายวันที่ 19 กรกฎาคม 2532 

พร้อมผู้โดยสาร 285 คนและลูกเรือ 11 คน


14:09 น. ตามเวลาท้องถิ่นของสหรัฐ 

กัปตันในเที่ยวบินนี้คือกัปตันอัลเฟร็ด ซี.เฮเนส


15:16 น.หลังจากบินได้ 1 ชั่วโมง 7 นาที 

ได้เกิดเสียงระเบิดขึ้นบริเวณท้ายเครื่อง

ผู้โดยสารต่างตกใจและหวาดกลัว

ใบพัดของเครื่องยนต์ตัวที่ 2 ซึ่งอยู่ที่หางเกิดระเบิด

ชิ้นส่วนบางอย่างกระเด็นไปตัดท่อของระบบไฮดรอลิก ทำให้ระบบไฮดรอลิกเสียหาย 


ซึ่งในการควบคุมเครื่องบิน จำเป็นต้องใช้ไฮโดรลิคบังคับทิศทางแต่เมื่อระบบไฮดรอลิคไม่มีแล้ว 

เครื่องบินจึงไม่ต่างอะไรกับรถยนต์ที่ไม่มีพวงมาลัย!! 

ไม่สามารถควบคุมเครื่องได้


กัปตันอัลเฟร็ดทราบว่าระบบไฮดรอลิกมีปัญหา 

จึงดับเครื่องยนต์ตัวที่ 2 ซึ่งอยู่บริเวณแพนหาง 


ความพยายามที่จะเอาชีวิตรอด และไม่เคยยอมแพ้


กัปตันใช้กำลังเครื่องยนต์บังคับทิศทาง!!

ให้เครื่องบินหันหัวไปในทิศทางที่ต้องการ…

เช่นถ้าอยากให้เครื่องเลี้ยวขวาก็ผ่อนเครื่องยนต์ขวา

เร่งเครื่องยนต์ซ้าย.. อาการลักษณะนี้นักบินทุกคนรู้ดี

เพราะเมื่อเครื่องยนต์ดับ การเลี้ยวในลักษณะนี้ 

จะเกิดขึ้นตามหลักของอากาศพลศาสตร์


แต่การบังคับเครื่องบินด้วยวิธีการนี้

ไม่เคยมีเขียนไว้ในตำราการบินเล่มใดๆในโลกนี้!


เวลา 15:29 น. กัปตันเดนนิส อี ฟิตช์ นักบินอีกคนของสายการบินยูไนเต็ตแอร์ไลน์ และเป็นครูการบินในเครื่อง DC-10 ซึ่งกำลังเดินทางกลับบ้าน

ได้เข้าไปในห้องนักบินเพื่อช่วยเหลือกัปตันอัลเฟร็ด


เมื่อนักบินทั้งสองติดต่อกับหอบังคับการบิน

พวกเขาก็ได้รับการแนะนำว่าให้ไปลงจอดที่

สนามบินซู เกทเวย์ในเมืองซูซิตี้ รัฐไอโอว่า

ซึ่งมีรันเวย์ยาวพอที่จะให้เครื่อง DC-10 ลงจอดได้ 


เมื่อมาถึงสนามบิน กัปตันอัลเฟร็ดพยายาม

จะนำเครื่องบินลำยักษ์ของตนลงจอด 

โดยมีกัปตันเดนนิสคอยใช้เครื่องยนต์ที่เหลือ 2 ตัวเพิ่มกำลังให้การบังคับทิศทางเครื่องบิน โดยการใช้เพียงแรงกำลังเครื่องยนต์ 


16:00 น. เที่ยวบินที่ 232 ด้วยความพยายามของนักบิน DC-10 จึงมาถึงรันเวย์สำเร็จ 

แต่มันไม่ง่ายครับ..

ในที่สุดเคริ่องบินเกิดเสียการทรงตัว !! ตกกระแทกกับรันเวย์อย่างแรงก่อนที่ระเบิดลุกเป็นไฟและพลิกคว่ำไปหยุดอยู่ที่ไร่ข้าวโพดข้างๆรันเวย์ 

โดยมีผู้ถ่ายวีดีโอขณะเกิดเหตุสยองไว้ได้ 

จากการตกครั้งนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิต 111 คน 


แต่สิ่งมหัศจรรย์ก็คือมีผู้รอดชีวิต 185 คน

(รวมทั้งกัปตันอัลเฟร็ด กัปตันเดนนิสและนักบินอีก 2 คน)โดยมี 172 คนที่ได้รับบาดเจ็บ


เครื่องบินที่เหมือนเรือไร้หางเสือ 

รถยนต์ที่ขาดพวงมาลัย

การควบคุมทิศทางโดยใช้เครื่องยนต์เพียง 2เครื่องยนต์ กับการบังคับนำเครื่องกลับมาลงจอดอย่างสุดมหัศจรรย์


มันจึงถูกจารึกในประวัติศาสตร์การบิน

ทำให้กับกัปตันทั้งสองเป็นวีรบุรุษ

ที่อยู่ในตำนานของการบินจนถึงทุกวันนี้


ปัจจุบัน กัปตันอัลเฟร็ด ซี. เฮนส์ มีอายุ 86 ปีแล้ว ส่วนกัปตันเดนนิส อี. ฟิตซ์ เสียชีวิตจากโรคมะเร็งในสมองเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2555 อายุ 69 ปี


เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้มีการปฏิวัติระบบไฮดรอลิค ให้การทำงานอย่างเป็นอิสระ

และแยกตำแหน่งท่อทาง โอกาสที่ระบบไฮดรอลิคทั้ง 3 ระบบจะถูกทำลายพร้อมกัน

จึงเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้


ทุกครั้งที่มีความผิดพลาดทุกครั้งที่มีการสูญเสีย

มันกำลังบอกบทเรียนอะไรบางอย่างให้เรา

เพื่อให้เราก้าวไปสู่การเดินทางที่ปลอดภัยมากขึ้น 


ฉนั้น…เรื่องบางเรื่องเราอาจรอไม่ได้

ขณะเดียวกันเรื่องบางเรื่อง


“เรารีบไม่ได้จริงๆครับ…”


Info : เครื่องบิน DC-10 เที่ยวบินโดยสารเชิงพาณิชย์เที่ยวสุดท้ายคือ สายการบิน Biman Airlines ของบังคลาเทศเมื่อปลายปี 2017


Credit: Wikipedia ยูไนเต็ดแอร์ไลน์เที่ยวบินที่ 232