“Boeing 737 Max กับยาไทลินอล”

กรณีอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับ Boeing 737 Max ทั้ง 2 ครั้งกับสายการบิน Lion Air และสายการบินเอธิโอเปียแอร์ไลน์ต้องยอมรับว่าสร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวง

ให้เกิดขึ้นกับบริษัทผลิตเครื่องบินยักษ์ใหญ่อย่าง Boeing นั่นคือความเรื่องของ “เชื่อมั่น”

 

 

ทีมผู้บริหารของ Boeing ในช่วงเวลานั้น

ควรต้องแสดงภาวะผู้นำในการแก้ปัญหานี้อย่างเร่งด่วน

หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตถึงความล่าช้าในการเรียกคืน

เครื่องบิน Boeing 737 Max หรือการออกมา

มีส่วนร่วมในการสั่งให้ 737 Max ของสายการบิน

ทั่วโลกหยุดบิน

มันแสดงให้เห็นถึง Crisis Management หรือการแก้ปัญหาในภาวะวิกฤตที่หลายองค์กรกำลังศึกษาและให้ความสนใจกันอยู่ ณ ขณะนี้

 

 

มันทำให้ผมนึกถึงกรณีศึกษาที่ผมมักพูดถึง

เสมอเมื่อได้ไปให้ความรู้เรื่องภาวะผู้นำกับองค์กรต่างๆและยังถูกใช้และอ้างอิงจนถึงปัจจุบันถึง

แม้ว่าเหตุการณ์มันจะเกิดขึ้นเกือบ 40 ปีแล้ว มันคือ “Tylenol Episode”

เหตุการณ์ย้อนหลังเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 กันยายน

ปี 1982 ที่สหรัฐอเมริกา มีการพบว่ามีสารพิษ Potassium Cyanide ปนอยู่กับยาไทลินอล

“มันคือการลอบวางยาเพื่อสังหารหมู่อย่างโหดเหี้ยมที่สุด”

Mary Kellerman ซึ่งมีอายุเพียง 12 ปีเธอคือเหยื่อรายแรกที่เสียชีวิตหลังจากที่เธอทานยาแก้ปวด

ไทลินอลเพื่อลดอาการไข้

หลังจากนั้นเหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมีผู้สังเวยชีวิตถึง 7 คนกับเหตุการณ์ครั้งนี้

แนวทางการสอบสวนยังพบอีกว่าการลอบวางยาครั้งนี้ไม่ได้เกิดในสายการผลิตของโรงงาน ซึ่งมีบริษัท

จอนสันแอนด์จอนสันเป็นผู้ดูแลแต่มันเกิดขึ้นในร้านขายยาแห่งใดแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา

ปริศนาดำมืดจึงถูกหาคำตอบทันที

ว่าใครคือฆาตกรโหดรายนี้

James E.Lewis ที่ปรึกษากฎหมาย ถูกระบุว่าเป็นผู้ต้องสงสัย เนื่องจากพบว่าเป็นผู้เขียนจดหมายเรียกเงินจากบริษัทโดยเนื้อหาใจความจดหมายว่าถ้าต้องการหยุดการตายหมู่ครั้งนี้ต้องจ่ายเงินให้กับเขา

หลังจากถูกจับกุม เขาหมดอิสรภาพในเรือนจำกว่า 12 ปีในข้อหากรรโชกทรัพย์ แต่ยังไม่เคยมีคำรับสารภาพเรื่องการวางยาจากปากเขา

หลายฝ่ายยังเชื่อว่าเขาไม่ใช่ผู้กระทำความผิดตัวจริง ฆาตกรลึกลับยังคงลอยนวลต่อไปจนถึงวันนี้

แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นที่เราจะคุยกันในวันนี้ครับ

สิ่งที่น่าสนใจคือการตอบสนองในการเรียกศรัทธา

ความเชื่อมั่นกลับคืนมาในช่วงเวลาวิกฤตต่างหาก

สิ่งที่ทีมผู้บริหารบริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน

ได้ทำในวันนั้นกลายเป็นตำนานที่ถูกพูดถึง

และเป็นกรณีศึกษาจนถึงทุกวันนี้

ทันทีที่มีข่าวแพร่สะพัดว่ามีคนเสียชีวิต

เพราะทานยาไทลินอล

บริษัทจอนสันแอนด์จอนสันเรียกคืนผลิตภัณฑ์

ยาไทลินอลทั้งหมดในท้องตลาดกว่า 31 ล้านชิ้น

คิดเป็นมูลค่าความเสียหายในวันนั้น 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถ้าเทียบกับมูลค่าเงินในวันนี้ มันจะมีมูลค่าพุ่งไปถึง 267 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

 

โฆษณายาไทลินอลทั้งหมดถูกระงับการออกอากาศโดยทันที มันคือการแสดงความรับผิดชอบอย่างฉับพลันทันเหตุการณ์ที่สุด

 

 

เพียง 6 อาทิตย์หลังจากเกิดเหตุไทลินอลก็กลับมา…

การกลับมาของไทลินอลน่าสนใจมากครับ

ทีมผู้บริหารเคยมีความคิดจะเปลี่ยนชื่อผลิตภัณฑ์โดยไม่ใช้ชื่อไทลินอลอีกต่อไปแต่ในความคิดนี้ก็ตกไป

สิ่งที่พวกเขาคิดว่าสมควรจะถูกเปลี่ยนมากที่สุดคือ “การบรรจุภัณฑ์ หรือ Packaging”

ซึ่งมันคือต้นแบบบรรจุภัณฑ์ยาหรือวิตามิน

ที่เรานิยมซื้อกันในท้องตลาดในปัจจุบันนั่นเอง!

เริ่มจากฝาปิดจะมีฟอยล์หุ้ม 1 ชั้น

แกะฟอยล์ออกจะพบกับฝาพลาสติกที่ถูกล็อคต้องออกแรงบิดพอสมควรจึงจะเปิดได้

จากนั้นเราจะพบกับฟอยล์เงิน ซึ่งหลายคนรู้สึกว่ามันเปิดยากเย็นเหลือเกิน ต้องใช้นิ้วหรือของมีคมเปิดออกมาจะพบก้อนสำลีบรรจุอยู่ชั้นบนสุดเหนือเมล็ดยาหรือแคปซูล

 

 

ขั้นตอนการเปิดบรรจุภัณฑ์เพื่อจะหยิบยาออกมา

1 เม็ดมันดูยุ่งยากและซับซ้อนมากเลยใช่ไหมครับ

แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาสำหรับผู้บริโภค…

มันกลับสร้างความชื่นชอบและความเชื่อมั่นว่ายาทุกเม็ดก่อนถึงมือเรา มันจะไม่ถูกเปิดหรือฉีกออกจากใครบางคน

บรรจุภัณฑ์ที่เราเห็นในทุกวันนี้ เกิดมาจากวิกฤตครั้งนั้น ต้นแบบที่ไทลินอลสร้างและปฏิรูปการบรรจุผลิตภัณฑ์ใหม่ทั้งหมดเพื่อเรียก”ความเชื่อมั่น” กลับคืนมา

ซึ่งมันได้ผลครับ ถ้าถามคนอเมริกันในทุกวันนี้

ให้นึกถึงยาแก้ปวด พวกเขาจะนึกถึงยาไทลินอลเป็นอันดับแรกๆนั่นหมายถึงความเชื่อมั่นได้กลับคืนมาอย่างสมบูรณ์แบบ

นี่คือ Crisis Management ที่สุดยอดและถูกนำมาศึกษาครั้งแล้วครั้งเล่าจนถึงปัจจุบัน

หลายบริษัทที่นำกรณีศึกษานี้มาปรับใช้เมื่อเจอกับภาวะวิกฤต

“การยอมรับว่ามีปัญหา คือขั้นตอนแรกที่สำคัญของการแก้ปัญหา”

ความรวดเร็วในการตอบสนองต่อสถานการณ์

คือหัวใจหรือกุญแจที่จะแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การกลับมาของไทลินอลว่ากันว่าเป็น

“Great Come Back” ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์เลยทีเดียว

หนึ่งในผู้บริหารของบริษัทจอนสันแอนด์จอนสันในวันนั้นกล่าวไว้ว่า…

“จากวิกฤตครั้งนี้เราไม่ถูกมองและตัดสินจากสาเหตุของปัญหา

เราถูกมองและตัดสินจากการตอบสนองต่อปัญหานั้นต่างหาก”

ชีวิตส่วนตัวของเราก็เหมือนกันครับเมื่อเราเจอปัญหาหรือภาวะวิกฤตในชีวิต

” บางครั้ง…คนอื่นอาจไม่สนใจหรือเห็นใจหรอกครับว่าปัญหาของเรามันเกิดจากสาเหตุอะไร…

แต่เขาจะสนใจและตัดสินเราจากการตอบสนองกับปัญหานั้นของเราต่างหาก “

เรากำหนดสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับชีวิตเรา

ไม่ได้หรอกครับ…

แต่เราควบคุมหรือกำหนดการตอบสนอง

ต่อสถานการณ์นั้นได้ครับ

กัปตันหมี

 

Photos & Ref