การหลบหนีด้วยการแอบเกาะล้อและซ่อนตัวอยู่ที่ช่องเก็บล้อของเครื่องบิน การเดิมพันชีวิตกับอนาคตใหม่ที่ไม่มีความแน่นอน แต่ก็มีคนบางคนที่พร้อมจะเสี่ยง
สำหรับท่านใดยังไม่ได้อ่านบทความ 2 ตอนแรก ย้อนกลับไปอ่านได้ที่โพสต์ก่อนหน้านะครับ
1.
พวกเขาแอบและซ่อนตัวได้อย่างไร?
ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าพื้นที่ในลานจอดภายในสนามบินเป็นพื้นที่หวงห้ามขั้นสุดยกเว้นเจ้าหน้าที่ บุคคลภายนอกไม่สามารถที่จะย่างกรายเข้าไปในบริเวณดังกล่าวได้
หลายสนามบินถึงกับมีการติดป้ายว่าจะมีการยิงทันทีโดยที่ไม่มีการถาม หากมีบุคคลใดที่เข้ามาโดยไม่ได้รับอนุญาต
แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีอีกหลายสนามบินที่ความเข้มงวดหรือการป้องกันมีความหละหลวม เหมือนกับกรณีที่พบศพชายคนหนึ่งในปี 2012 หลังจากที่เขาพยายามจะหลบหนีจากเคปทาวน์แอฟริกาใต้มายังลอนดอน มีการแจ้งเตือนไปยังนักบินบนเครื่องบินว่ารั้วด้านหนึ่งของสนามบินถูกทำลายและคาดว่าจะมีบุคคลเข้าไปในลานจอดและแอบซ่อนตัวเกาะล้อเครื่องบินเนื่องจากมีพยานได้เห็น แต่มันก็สายเกินไปเสียแล้วเครื่องบินบินอยู่ที่ระดับความสูงเกือบ 40,000 ฟุต สิ่งที่พวกเขาทำได้ก็คือนำเครื่องบินไปลงจอดที่ลอนดอน พร้อมกับพบข่าวเศร้าเมื่อชายคนนั้นกลายเป็นศพ
ผู้หลบหนีเหล่านั้นจะใช้วิธีการวิ่งให้เร็วที่สุดไปยังที่เครื่องบินแล้วปีนไปที่แกนค้ำยันของล้อ ซึ่งเป็นโลหะขนาดใหญ่พอที่จะเบียดตัวเองขึ้นไปยังห้องที่เป็นห้องเก็บล้อ เจ้าช่องหรือห้องขนาดพอดีกับล้อนี้ มีไว้สำหรับการเก็บล้อหลังจากที่เครื่องบินทำการวิ่งขึ้น ล้อทุกล้อจะถูกเก็บพับเข้าสู่ลำตัว เพราะหากปล่อยให้ล้อกางไปตลอดทางก็จะเปลืองน้ำมันและเกิดเสียงดังมาก รับรองว่าบินไปไม่ถึงปลายทางแน่นอน
แน่นอนครับห้องเก็บล้อก็มีขนาดไม่ได้ใหญ่โตนัก ลองจินตนาการดูว่าร่างของผู้หลบหนีจะต้องคุดคู้อยู่ในสภาพไหนพวกเขาถึงจะรอดจากการถูกบีบอัดจากล้อขนาดมหึมาเมื่อมันถูกเก็บ
2.
พวกเขาเหล่านั้นคือใคร?
คนที่ตัดสินใจอย่างบ้าบิ่นท้าทายกับความตาย คงไม่ใช่เหตุผลเรื่องสนุกนะครับ ที่พวกเขาจะทำเช่นนั้นสาเหตุก็มาจากการหนีความยากจน,ความขัดแย้ง,การถูกกดขี่ข่มเหง การมุ่งหวังในเรื่องของเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ในการหางานทำ จุดหมายปลายทางส่วนใหญ่จึงเป็นทวีปอเมริกาและยุโรป ผู้หลบหนีส่วนมากก็มาจากแอฟริกาและประเทศกำลังพัฒนาประเทศอื่นๆ
3.
สิ่งที่พวกเขาจะเผชิญ?!?
เหตุการณ์จากนี้คือภาพจำลองซึ่งผู้หลบหนีเหล่านั้นจะต้องเผชิญเมื่อเขาตัดสินใจเกาะล้อเครื่องบินและซ่อนตัวอยู่ในนั้น
- ความเสี่ยงที่จะหลุดร่วงลงมาขณะเครื่องบินทำการวิ่งขึ้น
เครื่องบินวิ่งขึ้นด้วยความเร็วเกินกว่า 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมงกระแสลมที่พัดเข้ามายังร่างกาย อาจทำให้พวกเขาร่วงหล่นลงสู่พื้นรันเวย์ การตกจากเครื่องบินที่ความเร็วขนาดนั้นโอกาสรอดชีวิตแทบจะไม่มี - ถ้าผ่านด่านทดสอบด่านแรกไปได้ เครื่องบินทะยานสู่ฟ้าประตูห้องเก็บล้อจะถูกปิดลงพร้อมกับล้อที่ถูกพับเก็บ
ตอนนั้นล้อขนาดมหึมาก็จะเบียดร่างของพวกเขา พื้นที่ที่มีเหลืออยู่น้อยนิดคือที่ที่ร่างกายจะต้องอาศัยอยู่ให้ได้และต้องหลบหลีกจัดการถูกบดอัดจากล้อเครื่องบิน
มีหลายครั้งที่พบร่างของผู้เสียชีวิตในสภาพร่างกายแหลกเหลวหลังจากที่เครื่องบินจะทำการลงจอดที่สนามบินปลายทางและประตูห้องเก็บล้อถูกเปิดออก - อากาศที่เบาบางลงปริมาณออกซิเจนที่น้อย อุณหภูมิที่ลดลงต่ำถึงขีดสุด ว่ากันว่าที่ความสูงประมาณ 10 กิโลเมตรเหนือพื้นดินอุณหภูมิมีโอกาสจะลดลงต่ำถึง -50 องศาเซลเซียสได้ทีเดียว อาจเกิดบาดแผลจากการถูกความเย็นจัด รวมถึงอาการ Frostbite ความทรมานของร่างกายจะมาพร้อมๆกับอาการหมดสติ ในสภาพการพร่องหรือขาดออกซิเจนประสาทการรับรู้ทางสายตาและหูจะค่อยๆสูญเสียรวมถึงการแสดงออกด้านอื่นแล้วแต่บุคคล ซึ่งมีทั้งน้ำตาไหลปวดศีรษะอย่างรุนแรงหรือมีอาการเพ้อ หากยังไม่เสียชีวิตพวกเขาจะต้องทนกับสภาพของอากาศที่หนาวเหน็บที่สุด หรือหากหมดสติแต่ยังไม่เสียชีวิตเมื่อประตูห้องเก็บล้อถูกเปิดออกร่างกายที่ยังมีชีวิตเหล่านั้นก็ร่วงหล่นลงสู่พื้นและเสียชีวิตในที่สุด
4.
เหตุผลที่มีผู้รอดชีวิตมาได้
เราได้เห็นความเลวร้ายของสภาพอากาศที่กระทำต่อร่างกายของมนุษย์ คำถามต่อมาคือความโหดร้ายสุดๆถึงขนาดนั้นเหตุใดยังมีผู้รอดชีวิตมาได้?
นักวิทยาศาสตร์หาคำตอบเหล่านี้เช่นกัน มีข้อสันนิษฐานมากมายแต่ข้อสันนิษฐานที่ดูจะเป็นไปได้มากที่สุดคือข้อสันนิษฐานดังต่อไปนี้
-ผู้รอดชีวิตส่วนใหญ่มีอายุยังน้อย อยู่ในวัยประมาณ 20 กว่าปีร่างกายกำลังแข็งแรงถึงขีดสุด
- ในสภาพที่ร่างกายต้องต่อสู้กับความหนาวเย็น ความหนาวถึงที่สุดก็อาจมีผลทำให้ร่างกายอยู่ในสภาวะคล้ายการจำศีลคือการใช้พลังงานน้อยลง เหมือนกรณีคนที่รอดชีวิตมาได้จากการที่จมอยู่ใต้ธารน้ำแข็ง ที่นักวิทยาศาสตร์ใช้คำว่า slow the body’s processes การไหลเวียนเลือดจะน้อยลงการใช้ออกซิเจนก็จะน้อย เมื่ออุณหภูมิภายนอกสูงขึ้นก็เป็นไปได้ว่าร่างกายจะกลับมา reboot ตัวเองทำงานอีกครั้ง คล้ายกับการร่างกายหยุดทำงานชั่วคราวหมดสติแต่ยังมีชีวิต ในขณะที่สมองถูกแช่แข็งแต่สมองยังไม่ตาย
อย่างไรก็ตามข้อสันนิษฐานเหล่านี้ยังต้องการคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์และการทดลองอีกพอสมควร เพื่อจะหาคำตอบให้ได้ว่าร่างกายของมนุษย์สามารถทนทานต่อสภาพความเลวร้ายเช่นนั้นได้อย่างไร
แต่คำตอบที่ชัดเจนที่สุด ก็คงหนีไม่พ้นคำตอบในใจของผู้หลบหนีเหล่านั้น ที่ไม่ว่าเหตุผลของการหลบหนีคืออะไรแตกต่างกันเพียงใด คำตอบสุดท้ายของพวกเขาคือ
“ชีวิตใหม่ที่ดีกว่าเดิม”
ฝากทิ้งท้ายไว้สำหรับทุกคนนะครับ
“การมีชีวิตใหม่ที่ดีกว่าเดิม” ไม่จำเป็นต้องเอาชีวิตไปเสี่ยงกับการเดินทางครั้งสุดท้ายดั่งบทความที่ผมเขียนมาทั้ง 3 ตอน เพราะชีวิตของคนเราถ้าวันนี้ได้ตื่นขึ้นมาก็ถือว่าเป็นการเดินทางอีกครั้งหนึ่งของเรา ตราบใดที่มันยังไม่ใช่การเดินทางครั้งสุดท้าย ขอให้มีความหวังในทุกวันว่าเราจะมีชีวิตใหม่ที่ดีกว่าเดิม
ถ้าวันนี้มันจะเหนื่อยมันจะท้อ
ก็ขอแค่รอ”การเดินทางครั้งใหม่”ในวันพรุ่งนี้
ขอให้การเดินทางในทุกๆวัน
เป็นการเดินทางที่ดีและมีความสุขนะครับ
กัปตันหมี