“เมื่อนักบินเจอเคอร์ฟิว”

เมื่อพูดถึงคำว่าเคอร์ฟิวหลายท่านคงนึกถึงข้อจำกัดการห้ามออกจากเคหสถานในยามวิกาล

ท่านทราบไหมครับว่าในการบินเราก็มีเคอร์ฟิวเช่นกัน

ผมจะเล่าประสบการณ์การบินในช่วงเวลาเคอร์ฟิวให้ท่านฟังเหตุการณ์เพิ่งเกิดขึ้นสดๆร้อน กับเที่ยวบินของผมเอง

ตอนนี้ผมอยู่ที่ซิดนีย์ครับ เมื่อวานเราออกเดินทางจากกรุงเทพฯแวะเติมน้ำมันที่ภูเก็ตและรับผู้โดยสารจากโครงการภูเก็ต sandbox บินตรงสู่ท่าอากาศยานนานาชาติคิงส์ฟอร์ดสมิธที่ซิดนีย์

เมฆฝนตั้งเค้ามาแต่ไกลที่ภูเก็ต แต่เที่ยวบินของเราออกเดินทางจากภูเก็ตเร็วกว่าเวลาที่กำหนดไว้ในตารางบินไม่ได้ครับ

เหตุผลเพราะอะไรหรือครับ…ก็เพราะว่าเราจะไปถึงในช่วงเวลาที่สนามบินที่ซิดนีย์เป็นเวลาเคอร์ฟิวพอดีไงครับ
ผู้โดยสารพร้อม เครื่องบินเติมน้ำมันพร้อม
แต่เวลาดั๊นไม่พร้อมติดเคอร์ฟิวซะงั้น

ผมเลยจำเป็นต้องประกาศผู้โดยสารถึงความจำเป็นที่เที่ยวบินของเราไม่สามารถออกเดินทางได้แม้ทุกอย่างจะพร้อมก็ตาม

1.
เคอร์ฟิวที่สนามบินคืออะไร?
คือการห้ามเครื่องบินลงจอดในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง
ส่วนใหญ่จะเป็นช่วงเวลากลางคืน ยกตัวอย่างสนามบินคิงส์ฟอร์ดสมิธที่ซิดนีย์ มีการออกประกาศเคอร์ฟิว 23:00 -06:00 เหตุผลก็คือการลดมลภาวะทางเสียงให้กับชุมชนเมืองที่อยู่โดยรอบสนามบิน ประเทศในแถบยุโรปหลายประเทศก็มีความห่วงใยมลภาวะทางเสียงสำหรับประชากรของเขาเช่นกัน เราจึงเห็นเคอร์ฟิวลักษณะนี้ในประเทศแถบยุโรปไม่ว่าจะเป็นเยอรมันอังกฤษและสวิตเซอร์แลนด์

2.
มลภาวะทางเสียงในการบินเกิดจากอะไร?
มลภาวะทางเสียงในการบินแบ่งออกเป็น 3 ส่วนด้วยกัน
-มลภาวะทางเสียงที่เกิดจากเครื่องยนต์ เครื่องยนต์เจ็ทที่อากาศถูกบีบอัดและถูกปล่อยออกมาด้วยแรงจุดระเบิดจะมีเสียงดังมาก เครื่องบินสมัยใหม่จึงถูกออกแบบมาให้ลดระดับเสียงของเครื่องยนต์เราจึงเห็นเทคโนโลยีการออกแบบเครื่องยนต์ที่เป็น high bypass ratio คือลดปริมาณอากาศที่ผ่านคอมเพรสเซอร์ในเครื่องบินรุ่นใหม่ๆทำให้ลดระดับเสียงลงไปได้มากเลยครับ
-มลภาวะทางเสียงที่เกิดจากหลักอากาศพลศาสตร์ อธิบายง่ายๆก็คือการเคลื่อนที่ผ่านอากาศของลำตัวเครื่องบินทำให้เกิดเสียงนั่นเองครับ
-มลภาวะทางเสียงที่เกิดจากอุปกรณ์/ระบบอื่นในเครื่องบินเช่นระบบปรับอากาศและระบบปรับความดันของเครื่องบิน,เครื่องกำเนิดไฟหรือที่เราเรียกว่า APU หรือ Auxiliary Power Unit

3.
สิ่งที่นักบินต้องทำ
เราจะให้คอมพิวเตอร์ทำการบินคำนวณครับว่าถ้าเราออกเดินทางตอนนี้จะไปถึงสนามบินที่มีเคอร์ฟิวเวลาเท่าไหร่ คอมพิวเตอร์ทางการบินหรือ flight management computer มีความเที่ยงตรงมากครับมันจะบอกเราว่าเวลาที่ไปถึงอยู่ในช่วงเคอร์ฟิวหรือไม่ ถ้าใช่เราจำเป็นจะต้องออกเดินทางให้ช้าลง มีบางครั้งเหมือนกันครับที่พอทำการบินจริงๆลมเกิดเปลี่ยนทิศทาง หรือเส้นทางการบินสั้นลงเนื่องจากได้อนุญาตให้บินตรง เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแบบนี้นักบินก็ต้องรีบลดความเร็ว เพื่อให้ไปถึงหลังเวลาเคอร์ฟิวอย่างน้อย 1 นาทีก็ไม่โดนปรับซึ่งค่าปรับแพงมหาโหดเลยครับ งานจะยากขึ้นไปอีกตรงที่เครื่องบินลำอื่นก็พยายามจะมาลงจอดเวลาหลังเคอร์ฟิวเช่นเดียวกับเรา จึงเป็นภาพที่ชินตาและงานที่เราต้องเตรียมรับมือเมื่อเวลาผ่านเคอร์ฟิวไปเครื่องบินจากไหนก็ไม่รู้บินมุ่งหน้ามาลงที่สนามบินเดียวกันจำนวนมาก คราวนี้ก็ต้องใช้ฝีมือแล้วล่ะครับในการจัดลำดับเวลาลงจอด 😄

มาถึงตรงนี้ท่านคงเข้าใจดีขึ้นแล้วว่าเมื่อกัปตันประกาศว่าเราติดเคอร์ฟิวที่สนามบินปลายทางเราจำเป็นต้องออกเดินทางช้าลง ท่านคงมองเห็นภาพเห็นความจำเป็นและสามารถอธิบายเพื่อนร่วมทางท่านอื่นได้

เพราะการรอคอยไม่ใช่เรื่องทรมานใจอีกต่อไป
เมื่อการรอคอยนั้นมันเป็นการรอคอยที่มีเหตุผล
ใช่ไหมครับ…😄🙏😄

กัปตันหมี