
เมื่อเดือนที่ผ่านมาได้ดูผลงานของลิเวอร์พูล
ที่เล่นในนัดฉลองแชมป์กับทีมเชลซี
ผลการแข่งขันคือลิเวอร์พูลเปิดบ้านชนะไป 5 ประตูต่อ 3 ..ก็เรียกว่าสมราคาแชมป์ครับ
╔═══════════════╗
ท่านสามารถ”ฟังบทความนี้ ” ผ่าน Podcast
ได้จากโพสต์ก่อนหน้า
╚═══════════════╝
หลังจากนั้นก็เป็นบรรยากาศการรับ Trophy หรือถ้วยรางวัลที่รอคอยกันมานานถึง 30 ปี
ดีใจแทนเดอะค็อปแฟนของลิเวอร์พูลด้วยนะครับ
ในส่วนบรรยากาศการเฉลิมฉลอง นักเตะหลายๆคนก็ออกมาทวีตข้อความหรือโพสต์รูปลง Instagram
เนื้อหาใจความส่วนใหญ่ก็เป็นแนวความรู้สึกดีใจ
ภูมิใจและความรู้สึกขอบคุณแฟนของลิเวอร์พูลที่มีอยู่ทั่วโลก
แต่หนึ่งในทวีตที่ผมอ่านแล้วรู้สึกอยากจะนำมาเล่าและขยายความต่อ คือข้อความที่กองหลังทีมของลิเวอร์พูล Andrew Robertson ที่ได้ทวีตข้อความ
ในทวิตเตอร์ส่วนตัวของเขา
เขาทวีตแบบนี้ครับ..
“นี่เป็นความรู้สึกที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตทั้ง 96 คนที่ฮิลส์โบโรกับจำนวนแต้ม 96 แต้มที่ทำให้เราได้ชูถ้วยในวันนี้มันคือจำนวนลงตัวที่เท่ากัน…
ความสำเร็จในวันนี้มอบให้พวกคุณทุกคน “
อ่านข้อความนี้ทำให้ผมนึกถึงเหตุการณ์ที่ถือว่าเป็นโศกนาฏกรรมทางการกีฬาครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของอังกฤษ
“โศกนาฏกรรมที่ฮิลส์โบโร่”
เหตุเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 1989 ซึ่งเป็นการแข่งขันฟุตบอล FA Cup รอบรองชนะเลิศระหว่างทีมนอตทิงแฮมฟอเรสต์และทีมลิเวอร์พูลในสนามเป็นกลางของ Sheffield Wednesday
คือสนามฮิลส์โบโร่
ก่อนการแข่งขันมีการกำหนดอัฒจรรย์สำหรับแฟนฟุตบอล ปรากฏว่าทีม Nottingham forest ได้ฝั่งที่มีความจุมากกว่าทั้งที่จำนวนแฟนบอลน้อยกว่าลิเวอร์พูลซึ่งทางลิเวอร์พูลก็ได้มีการทักท้วงเรื่องนี้
ไปก่อนหน้าแล้ว
นี่คือความผิดพลาดที่ถือเป็นจิ๊กซอว์ตัวแรกของโศกนาฏกรรมครั้งนี้
กำหนดการแข่งขันจะเริ่มต้นประมาณ 15:00 น
เวลาประมาณ 14.45 แฟนฟุตบอลของ Nottingham forest ได้เข้าประจำอัฒจรรย์เรียบร้อยเพราะมีจำนวนน้อยกว่า
ผิดกับแฟนลิเวอร์พูลที่เดินทางมาจำนวนมาก
มีปัญหาด้านการจราจรและถูกตรวจตราอย่างเข้มงวดทำให้จำนวนแฟนบนบอลออกันอยู่บริเวณทางเข้าซึ่งมีเพียง 3 ช่องทางและมีช่องเช็คตั๋วแบบเก่าที่ใช้การหมุนอยู่ 7 ตัว
ยิ่งใกล้เวลาแข่ง แฟนบอลก็พยายามจะเข้าไปในสนามเพื่อให้ทันเวลาให้ได้ แฟนบอลด้านหน้าถูกดันจากแฟนบอลด้านหลัง
โดยที่พบว่ามีแฟนบอลบางส่วนไม่มีตั๋วฟุตบอลและก็ถูกกันไว้ แต่แฟนบอลที่ไม่มีตั๋วเหล่านี้ออกไปไม่ได้เนื่องจากแฟนด้านนอกบอลถาโถมดันเข้ามา
ทำให้จำนวนแฟนบอลมากขึ้นเรื่อยๆกลายเป็น
“คอขวด”ในขณะที่ทางเข้าจำกัด
เมื่อเห็นเหตุการณ์ทำท่าจะควบคุมไม่ไหวเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ควบคุมการแข่งขันจึงปล่อยให้เปิดประตู C ที่ไม่มีช่องเช็คตั๋วให้แฟนบอลเข้าไป
(ประตู C เป็นประตูใหญ่ที่ใช้สำหรับเป็นทางออก)
ตรงนี้คือจุดเปลี่ยนของเหตุการณ์เลยครับ
เพราะทำให้กองทัพแฟนบอลแห่กันเข้าไปช่องทางนั้นอย่างมากมาย ทั้งแฟนบอลที่มีตั๋วและไม่มีตั๋วเข้าชมการแข่งขัน
ยิ่งการแข่งขันเริ่มต้นไปแล้วยิ่งสร้างความรู้สึกต้องการเข้าไปในสนามฟุตบอลก็มากขึ้น
พวกเขาเริ่มดันเข้าไปในประตูที่เปิดใหม่คือประตู C
ที่นำไปสู่ล็อกผู้ชมที่ 3 และ 4 ในบริเวณที่รองรับผู้ชมได้เพียง 1,600 คนแต่แฟนฟุตบอลที่เข้าไปในวันนั้นกว่า 3,000 คนซึ่งเกินกว่าความจุเกือบ 2 เท่าตัว
จิ๊กซอว์ตัวต่อไปของการเกิดโศกนาฏกรรมคือในช่วงเวลานั้นจะมีการล้อมรั้วเพื่อป้องกันแฟนบอลอันธพาล
รั้วเหล็กนี่เองทำให้แฟนบอลบางส่วนถูกดันไปติด
และไม่สามารถที่จะออกไปจากบริเวณนั้นได้
เมื่อการแข่งขันเริ่มต้นไป 4 นาที ปีเตอร์ เบียร์ดสลี่ย์ ยิงบอลข้ามคานไปนิดเดียวทำให้เสียงเชียร์กระหึ่มขึ้นในสนามอีกครั้ง ยิ่งกระตุ้นความต้องการของแฟนบอลที่อยู่นอกสนาม พยายามจะเข้ามาในสนามให้ได้
แฟนบอลบางส่วนจึงถูกอัดติดกับแนวรั้วจนหายใจ
ไม่ออก มีบ้างที่ปีนกำแพงหนีออกมาได้

ความสูญเสียที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นจึงอุบัติขึ้นในนาทีนั้น
การแข่งขันที่เริ่มไปเพียง 6 นาที
ตำรวจก็ให้สัญญาณหยุดการแข่งขัน เนื่องจากมีแฟนบอลจำนวนหนึ่งปีนข้ามรั้วลงมาที่สนาม
และพบแฟนบอลบางส่วนเริ่มหมดสติ
ในที่สุดมีผู้เสียชีวิตทั้งหมดถึง 95 รายและอีกหนึ่งรายเสียชีวิตที่โรงพยาบาลรวมทั้งสิ้น 96 ราย
ซึ่งล้วนแต่เป็นแฟนของลิเวอร์พูล
เหตุการณ์ในวันนั้นส่งผลให้มีการยกเลิกการยืนชมฟุตบอลโดยเปลี่ยนเป็นอัฒจรรย์ที่มีเก้าอี้นั่งทั้งหมดและให้รื้อรั้วเหล็กออกจากสนามซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นการชมฟุตบอลในรูปแบบใหม่
ประเด็นที่ผมอยากจะพูดถึงก็คือการทวีตของ
Robertsonครั้งนี้ได้ใจแฟนๆของเดอะค็อปหลายๆคน
เพราะนี่คือ DNA ของทีมลิเวอร์พูลครับ ที่ให้ความสำคัญกับแฟนบอล เหมือนพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งใน
ทีมและเป็นเหมือนสมาชิกในบ้าน

การพูดถึง 96 ชีวิตที่สูญเสียไปในปี 1989
เปรียบเทียบกับ 96 คะแนนในวันที่ชูถ้วยแชมป์
มันคือการตอกย้ำว่าไม่มีใครคนใดในทีมลิเวอร์พูลจะลืมเหตุการณ์เศร้าโศกเสียใจครั้งนี้
แม้ในวันที่พวกเขาดีใจสุดๆกับการฉลองแชมป์ก็ตาม
มันเหมือนการสูญเสียคนในครอบครัว
การที่เราไม่ลืมเรื่องใดนั่นหมายถึงว่า
เรื่องนั้นมัน”สำคัญ”กับเรา
และถ้าเราไม่ลืมเรื่องนั้นและยังพูดถึงเรื่องนั้นระลึกถึงเรื่องนั้นด้วยแสดงว่าเรื่องนั้นสำคัญกับเรามาก
มันคงไม่ต่างอะไรกับความรู้สึกของญาติผู้เสียชีวิต 96 คนที่ฮิลส์โบโร่ในวันนั้นเมื่อได้อ่านข้อความนี้
พวกเขาคงดีใจมากเช่นกัน
ฝากไว้สุดท้ายนะครับ
ไม่ลืม = สำคัญ
ผมว่าชีวิตเรามาถึงวันนี้เรามีคนสำคัญ
ที่เราเป็นหนี้บุญคุณในชีวิตหลายๆคน
อย่าลืมพวกเขานะครับ
พูดถึงเขา นึกถึงเขา หรือไปหาเขาบ้าง
เพื่อให้เขาได้รับรู้ว่า เขายังมีความสำคัญ
อย่างน้อยก็ในความรู้สึกของเรา..
กัปตันหมี
Ref :
https://edition.cnn.com/2016/04/25/world/hillsborough-disaster-fast-facts/index.html