Fifth Freedom Flight คืออะไร?

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจ Freedoms of the air กันก่อนครับ เมื่อการเดินทางทางอากาศขยายตัวออกไปเป็นใยแมงมุม แน่นอนครับเราไม่ได้บินอยู่ภายในประเทศของเราอย่างเดียวอีกต่อไป การที่เราจำเป็นต้องบินเข้าสู่น่านฟ้าและดินแดนของประเทศอื่น จำเป็นต้องมีข้อตกลงระหว่างรัฐเกี่ยวกับเสรีภาพทางการบิน

  • รูปแบบ Freedoms of the air
    เสรีภาพทางการเดินอากาศ จริงๆแล้วมีอยู่ถึง 9 รูปแบบด้วยกันแต่รูปแบบที่ถูกพูดถึงบ่อยเกี่ยวกับการเดินทางของเรา
    น่าจะมีสาระสำคัญอยู่ที่ 5 รูปแบบแรกครับ

ผมขออนุญาตอธิบายด้วยถ้อยคำง่ายๆ เริ่มจาก

First freedom
เสรีภาพในการบินข้ามน่านฟ้าของประเทศอื่น

Second freedoms
เสรีภาพในการลงจอดทางเทคนิคในประเทศอื่น
คือการลงจอดที่ไม่เกี่ยวกับการขนส่งผู้โดยสารหรือสินค้าเช่นการแวะเติมน้ำมันหรือเพราะการขัดข้องทางเทคนิค
คือสรุปแวะลงจอดที่ไม่เกี่ยวกับ commercial นั่นเอง

Third and fourth freedoms
เสรีภาพในการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าจากประเทศต้นทางไปปลายทางและจากปลายทางกลับมายังต้นทาง
ตามลำดับ เช่นกรุงเทพ-ฮ่องกง : ฮ่องกง-กรุงเทพฯ

  • Fifth freedoms
    มาถึงเสรีภาพที่ 5 ที่เราจะพูดกันในวันนี้(จริงๆมีเสรีภาพทางการเดินอากาศทั้งหมด 9 เสรีภาพ แต่ที่เหลือเริ่มจะเป็นเรื่องไกลตัวเรานิดหน่อยเลยขออนุญาตไม่พูดถึงในวันนี้นะครับ)

เสรีภาพที่ 5 เป็นข้อที่มีการถกเถียงกันมากที่สุด
เนื่องจากมันมีทั้งฝ่ายได้ประโยชน์และฝ่ายเสียเปรียบ

เสรีภาพที่ 5 จะพูดให้เข้าใจง่ายๆคือการแวะรับส่งผู้โดยสารหรือสินค้าระหว่างทางนั่นเอง

ยกตัวอย่างสายการบินของประเทศ A
จะบินจากต้นทางคือประเทศ A ไปประเทศ C
แทนที่จะใช้เสรีภาพทางการบินที่ 3 คือบินตรงจาก
A ไป C แต่สายการบินพิจารณาแล้วว่าน่าจะคุ้มกว่าที่จะแวะรับส่งผู้โดยสารที่ประเทศ B ก่อน

จึงทำการเจรจากับประเทศ B และประเทศ C ขอใช้เสรีภาพทางการบินที่ 5 โดยแวะรับ-ส่งผู้โดยสารและสินค้าจากประเทศ B ก่อนแล้วจึงค่อยบินต่อไปยังประเทศ C
(ขากลับอาจเป็น C ไป B แล้วค่อยบินต่อกลับบ้านคือ A)

แบบนี้ก็แฮปปี้ทั้งสองฝ่ายสิครับสายการบินของประเทศ A ก็สามารถที่จะมีรายได้เพิ่ม แวะรับส่งผู้โดยสารระหว่างทาง

ผู้โดยสารที่อยู่ระหว่างทางคือประเทศ B ก็แฮปปี้ เช่นกันเพราะมีทางเลือกเพิ่ม เผลอๆอาจจะได้ตั๋วถูกลงด้วยซ้ำ
แถมมีโอกาสได้นั่งเครื่องบินที่ใหญ่ขึ้นหรูหรากว่าในราคาที่จ่ายถูกลง เช่นสายการบิน A บินไปตั้งไกลถึงประเทศ C
ก็คงต้องใช้เครื่องบินลำใหญ่ คราวนี้ก็ขึ้นอยู่กับสงครามการตั้งราคาตั๋วแล้วนะครับ “เครื่องบินใหญ่แต่ราคาเล็ก” มันช่างเย้ายั่วใจยิ่งนัก ส่วนผู้โดยสารที่ตั้งใจจะเดินทางจาก A ไปประเทศ C อยู่แล้วก็อาจจะยอมเสียเวลาหน่อยแต่อาจจ่ายค่าตั๋วโดยสารถูกลงก็คุ้มนะครับ

แต่ช้าก่อนใช่ว่าทุกฝ่ายจะแฮปปี้ ยังมีอีกฝ่ายหนึ่งครับที่รู้สึกไม่โอเคกับเรื่องดังกล่าว ก็คือสายการบิน Local ของประเทศ B ยังไงหละครับ โดนสงครามราคาแย่งลูกค้าไปเต็มๆ

แต่ก็นะ ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า”เสรีภาพ” เขามาขนผู้โดยสารจากประเทศเราได้ เราก็ไปขนผู้โดยสารจากประเทศเขาได้เช่นกัน ทั้งนี้คงขึ้นอยู่กับการเจรจาระหว่าง 2 รัฐภาคีที่จะต้องคุยกันในการแบ่งผลประโยชน์ให้ลงตัว คงไม่มีใครต้องการให้ตัวเองเสียเปรียบในเรื่องนี้หรอกนะครับ

ถ้าจะยกตัวอย่างของจริงให้เห็นภาพง่ายขึ้นไปอีก
เช่นเที่ยวบินที่ EK 384 ออกเดินทางจากดูไบมากรุงเทพฯแล้วเที่ยวบิน EK 384 ก็ออกเดินทางจากกรุงเทพฯมุ่งสู่ฮ่องกง แบบนี้เป็นต้น

และหากการบินไทยต้องการจะบินไปยุโรปและแวะรับส่งผู้โดยสารด้วยที่ดูไบก็เป็นเรื่องที่เป็นไปได้
โดยขอใช้เสรีภาพทางการบินที่ 5 เช่นกัน

-Fifth freedoms flight กับอนาคตหลังจากนี้

ว่ากันว่าหลังการระบาดของ Covid 19 เมื่อการเดินทางกลับมา สงครามการแย่งชิงผู้โดยสาร การหั่นราคาตั๋ว
คงเกิดขึ้นอย่างดุเดือด หลายสายการบินคงไม่พร้อมที่จะนำเครื่องบินจำนวนมากออกมาทำการบินในทันที

การใช้เสรีภาพทางการบินที่ 5 ก็สามารถลดจำนวนเครื่องบินลงได้ โดยสามารถเพิ่มจุดหมายปลายทางเส้นทางการบินให้มีความหลากหลายโดยการใช้เครื่องบินให้น้อยลง

นี่เองคือเหตุผลหนึ่งที่พิสูจน์ว่าโลกการบินเปลี่ยนไปอุตสาหกรรมบินมีการแข่งขันมากขึ้นใครที่จะเข้ามาสู่อุตสาหกรรมนี้คงจะต้องมีการวางแผนและการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า

เพราะท้ายที่สุดคนที่จ่ายเงินให้บรรดาสายการบิน
คือผู้โดยสารที่ทุกวันนี้เขาเป็นผู้ที่มีสิทธิ์เลือก
ไม่ได้โดนบังคับให้เลือกอีกต่อไป

กัปตันหมี