ภาวะร่วงหล่นของเครื่องบิน
จากการเลี้ยวปีกลึก
**บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาในการชี้สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ
แต่อย่างใด แต่ต้องการนำเสนอในมุมมองของหลักอากาศพลศาสตร์กับการบิน
1
ขอแสดงความเสียใจกับญาติผู้เสียชีวิต อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับสายการบินเยติแอร์ไลน์ เครื่องบินแบบ ATR-72 ออกเดินทางจากสนามบินตริภูวันไปยังสนามบินโปขราที่เนปาลเครื่องตกขณะกำลังลงจอดที่ทางวิ่ง 12 คาดว่าทุกคนบนเครื่อง(72 คน)จะเสียชีวิตทั้งหมด เมื่อ 15 ม.ค ที่ผ่านมา
2
ภาพที่เห็นก่อนเครื่องบินตกซึ่งมีผู้บันทึกวีดีโอไว้คือการเลี้ยว
ปีกลึก (มุมเอียงปีกที่มีความชันมาก) ทำให้หวนนึกถึงอุบัติเหตุครั้งหนึ่งที่เกิดขึ้นกับสายการบินทรานส์เอเชียแอร์เวย์ เที่ยวบินที่ 235 ที่เป็นเครื่องบินแบบ ATR-72 เช่นกันซึ่งตกที่ไทเป ครั้งนั้นสาเหตุถูกสรุปออกมาแล้วว่าเครื่องบินประสบปัญหาเครื่องยนต์ดับแต่นักบินกลับดับเครื่องยนต์ผิดข้าง(ดับเครื่องยนต์ที่ดี,ที่ไม่มีปัญหา) ภาพที่ถูกบันทึกวีดีโอไว้มีลักษณะคล้ายกันคือ
“เครื่องบินเลี้ยวปีกลึกก่อนที่จะตกกระแทกพื้นน้ำ”
3
ผมไม่ได้สรุปว่าอุบัติเหตุครั้งนี้เกิดจากการเลี้ยวที่ผิดพลาด
แต่จะเล่าให้ฟังว่าเหตุใดการ”เลี้ยวปีกลึก”จึงทำให้เครื่องบินสูญเสียแรงยกหรือเกิดภาวะร่วงหล่น(Stall)
แรงยกเครื่องบินที่เกิดขึ้นจากปีก เมื่อเครื่องบินบินในแนวระดับจะเกิดแรงยกในแนวตั้งฉาก/ดิ่ง ซึ่งจะกระทำในทิศทางตรงกันข้ามกับแรงโน้มถ่วงของโลก
แต่เมื่อเครื่องบินเลี้ยว เจ้าแรงยกที่เราเรียกว่า total lift จะมีการเคลื่อนที่ เช่นถ้าเราเลี้ยวซ้ายแรงยกจะเคลื่อนที่ไปทางซ้ายทำให้แรงยกในแนวดิ่งลดลง (มองดูภาพจะเห็นการแตกแรงอย่างชัดเจน total lift จะถูกแบ่งเป็นแรงยกในแนวดิ่ง vertical lift และแรงยกในแนวระนาบ horizon lift)
ทำให้แรงยกในแนวดิ่งที่ทำให้เครื่องบินบินอยู่บนฟ้าได้ลดลง
3.1
เมื่อแรงยกแนวดิ่งลดลงนักบินจะต้องเพิ่มแรงยกให้กับปีกเครื่องบินโดยการเพิ่มมุมปะทะซึ่งการเพิ่มมุมปะทะที่มากเกินไปเพื่อให้เครื่องบินยังบินรักษาความสูงอยู่ได้บนฟ้านี่เองทำให้เกิดภาวะการล่วงหล่นของเครื่องบินได้
3.2
นอกจากนั้นขณะเครื่องบินเลี้ยวจะเกิดแรงที่เรียกว่า
Load Factor (เราจะรู้สึกตัวเราหนักขึ้น,น้ำหนักที่กดลงบนเบาะที่นั่งจะมากขึ้น) เจ้า Load Factor จะมีผลที่จะทำให้ความเร็วที่จะทำให้เครื่องบินร่วงหล่น(Stall Speed)สูงขึ้น
หรือพูดง่ายๆเครื่องบินจะเข้าสู่ภาวะร่วงหล่น(Stall)เร็วขึ้น
ด้วยเหตุผลทั้ง 2 ข้อนี้เองจึงอธิบายให้เรารู้ว่า เมื่อเครื่องบินเลี้ยวปีกลึก(มุมเอียงปีกลึก/ชันเกินไป)
จะทำให้เครื่องบินสูญเสียแรงยกและเกิดภาวะร่วงหล่นได้
อุบัติเหตุย่อมมีสาเหตุ..
ซึ่งไม่นานครับเราจะรู้ว่าความสูญเสียครั้งนี้เกิดจากอะไร
กัปตันหมี
Cr : Photo Airlive.net